About
จุดเริ่มต้นและความเป็นมา
ประวัติของสาขาวิชาศิลปศึกษา
บันทึกโดย : ผศ.อัญชลี เปล่งวิทยา
เมื่อปี พ.ศ. 2514 วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้ก่อตั้งขึ้นมาด้วยความประสงค์ของทางราชการและประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้รักษาราชการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่คนแรก คือ อาจารย์วิชชา
อัตศาสตร์
ในปี พ.ศ.2519 วิทยาลัยครูได้รับการยกฐานะตามพระราชกฤษฎีกายกฐานะสถาบันฝึกหัดครูเป็นวิทยาลัยครู พ.ศ.2518 (ฉบับที่ 2) ในเวลาเดียวกันนั้นมีการรับสมัครสอบบรรจุอาจารย์หลายอัตราเดิมการสอนศิลปะจะสอนอยู่ที่ภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์ เมื่อมีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านศิลปะมาโดยตรง จึงแยกตัวมาเปิดภาควิชาศิลปะขึ้น หัวหน้าภาควิชาคนแรก คือ อาจารย์ประวิทย์ วิกรัยพัฒน์ (ปัจจุบันย้ายไปปฏิบัติราชการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี) ใช้ห้อง 232 ซึ่งอยู่ที่อาคาร 2 ชั้น 3 เป็นห้องสำนักงานของภาควิชาศิลปะและใช้ห้องเรียน ที่ชั้น 3 ของอาคาร 2 เป็นห้องปฏิบัติงานศิลปะ ซึ่งคับแคบและไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน ดังนั้นคณาจารย์และนักศึกษาศิลปะในขณะนั้น ได้แก่ นักศึกษาระดับ ป.กศ.ต้นและป.กศ.สูงวิชาโทศิลปะ จึงช่วยกันสร้างอาคารชั่วคราวขึ้นเองมีลักษณะเป็นรูป 8 เหลี่ยม ข้างฝาตีด้วยไม้ระแนง ช่วยกันสร้างขึ้นในพื้นที่ด้านข้างของภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์และใช้บริเวณรอบ ๆ อาคารเป็นสถานที่ปฏิบัติงาน ลำบากก็ตอนฤดูฝน
จนกระทั้งในปี พ.ศ.2520 ได้เปิดสอนระดับป.กศ.สูง มีวิชาเอกศิลปศึกษา จึงเห็นว่าที่เดิมไม่สามารถสอนนักศึกษาได้ จึงเริ่มมองหาสถานที่ใหม่ จึงได้ย้ายห้องพักอาจารย์จากชั้น 3 อาคาร 2 ลงมาที่ชั้นล่างอาคาร 2 มีห้องเรียนบริเวณชั้นล่างและใช้พื้นที่สนามด้านหน้าอาคารเป็นสถานที่ปฏิบัติงาน แต่ลักษณะของการทำงานที่ไม่มีอาคารเฉพาะจึงสร้างความลำคาญให้กับผู้พบเห็น โดยเฉพาะการเรียนปั้น ปูนปลาสเตอร์สีขาวเลอะเทอะเต็มสนามหน้าอาคาร 2 เรียนภาพพิมพ์ก็ต้องหากระจกแผ่นใหญ่มาเป็นแท่นกลิ้งสี ทำเสร็จก็ต้องเก็บ ห้องเรียนและบริเวณรอบห้องเรียน ภาพพิมพ์ก็เลอะเทอะเช่นกัน จากความไม่สะดวกนานัปการจึงเริ่มมองหาสถานที่ใหม่ให้นักนักศึกษาได้เรียนอีก จึงมองไปที่หอพักหญิง เห็นว่า หอพักหญิง 4 ไม่มีนักศึกษาเข้าพัก ภายในหอพักมีห้องโถงขนาดใหญ่ ทั้ง 3 ชั้น มีบริเวณกว้างขวางที่จะปฏิบัติงานเรียนได้สะดวก จึงให้นักศึกษาช่วยกันยกกระดานดำ โต๊ะ เก้าอี้ วัสดุครุภัณฑ์ มาช่วยกันจัดภาควิชาขึ้นใหม่ โดยเริ่มปรับปรุงทาสี กั้นห้อง ต่อมาสร้างอาคารโรงปั้น ต่อมาสร้างอาคารภาพพิมพ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยครูและนักศึกษาเอกศิลปะช่วยกันทำ ช่วยกันสร้าง
ในปี พ.ศ.2521 วิทยาลัยครูมีแผนในการพัฒนาบุคลากรประจำจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดร้อยเอ็ด จึงเปิดการสอน อ.ค.ป. (โครงการอบรมบุคลากรประจำการ) เปิดสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ ภาควิชาศิลปะได้รับมอบหมายจากผู้บริหารให้เปิดสอนวิชาเอกศิลปศึกษา ในปีแรก ๆ ผู้ที่เข้ามาศึกษาจะเป็นผู้บริหารประจำโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อการสอนอ.ค.ป.เป็นการสอน กศ.บป. ซึ่งในปัจจุบันได้หยุดรับแล้ว
ในปี พ.ศ.2527 นโยบายของกรมการฝึกหัดครูต้องการให้เปิดสอนสายวิชาชีพ ภาควิชาศิลปะจึงเปิดสอนวิชาเอกเทคนิคการอาชีพศิลปกรรมในระดับ ป.กศ.สูง
ในปี พ.ศ.2530 สร้างหลักสูตรศิลปะการพิมพ์ ระดับอนุปริญญา แต่ละชั้นปีมีนักศึกษาเข้าเรียนประมาณ 20 คน แต่หลักสูตรนี้ต่อมาได้ปิดลง เนื่องจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ ไปเรียนต่อสายครูเกินร้อยละ 50 ไม่ได้ออกไปประกอบอาชีพตามเป้าหมายของหลักสูตร เมื่อประเมินผลในการมีงานทำของนักศึกษาจึงไม่ได้ตามเกณฑ์และผู้สอนที่จบสายตรงทางภาพพิมพ์ มีเพียงคนเดียว บางภาคเรียนอาจารย์ที่สอนทางภาพพิมพ์ สอนเฉพาะวิชาเอกศิลปะการพิมพ์ ใน 1 ภาคเรียน อาจารย์ 1 คน สอนถึง 3 วิชา เป็นเช่นนี้หลายเทอม ต่อมาจึงเปลี่ยนไปเปิดสอนสาขาวิชาศิลปกรรม (ออกแบบนิเทศศิลป์) ซึ่งอาจารย์ทุกคนในภาควิชาศิลปะสามารถช่วยกันสอน ในรายวิชาต่าง ๆ ได้ทุกคน แล้วต่อมาหลักสูตรศิลปกรรม (ออกแบบนิเทศศิลป์) นี้พัฒนาไปเป็นหลักสูตรคอมพิวเตอร์ศิลปะและการออกแบบ
ในปี พ.ศ.2538 วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้ตั้งขึ้นเป็นสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ตามพระราชบัญญัติสภาสถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538 เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สามารถเปิดสอนได้ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตร ระดับอุดมศึกษา จนถึงปริญญาเอก ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานครู
ในปี พ.ศ.2546 ชื่อภาควิชาเปลี่ยนมาเป็นโปรแกรมวิชาศิลปศึกษาและเปิดสอนสายวิชาชีพทางด้านศิลปะ คือ โปรแกรมวิชาศิลปกรรม (สาขาออกแบบนิเทศศิลป์) ในขณะนั้นจึงได้เปิดรับนักศึกษา 2 โปรแกรมวิชา คือ
- โปรแกรมวิชาศิลปศึกษา หลักสูตร 4 ปี
- โปรแกรมวิชาศิลปกรรม (สาขาออกแบบนิเทศศิลป์) หลักสูตร 4 ปี
ในปี พ.ศ.2547 ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏขึ้นมาใช้แทนพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ จึงได้เปลี่ยนชื่อสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์มาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โปรแกรมวิชาเปลี่ยนเป็นสาขาวิชา ได้ขยายการศึกษาโดยเปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้น
ในปี พ.ศ.2548 ได้สร้างหลักสูตรทัศนศิลป์ หลักสูตรนี้ได้สร้างขึ้นมาเพื่อสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ให้สร้างหลักสูตรสายวิชาชีพ ผลิตบัณฑิตสนองความต้องการของการนำงานศิลปะมาใช้ร่วมกับเครื่องมือทางคอมพิวเตอร์สร้างงานได้ตรงกับยุคสมัยของธุรกิจที่เติบโตได้เร็วมาก ในยุคนี้มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างงานทั้งสิ่งพิมพ์และงานโฆษณาทุกประเภท บุคลากรของศิลปะแล้วเห็นว่ามีบางคนที่มีความสามารถทางการใช้มือในการสร้างงานศิลปะ ไม่ถนัดทางการใช้คอมพิวเตอร์ จึงเป็นเหตุผลที่คิดสร้างหลักสูตรทัศนศิลป์ขึ้นมา มิฉะนั้นบุคคลเหล่านี้จะต้องไปสอนเพียงบางวิชาให้กับหลักสูตรคอมพิวเตอร์ศิลปะและการออกแบบเท่านั้น เช่น วิชาพื้นฐานการวาดเส้น วิชาประติมากรรมพื้นฐาน สำหรับวิชาสีน้ำก็จะไม่ได้สอน วิชาสีน้ำมันก็จะไม่มี ประติมากรรมที่สร้างงานจากน้ำมือก็จะหมดไป วิชาความรู้ที่เรียนมาก็จะไม่รู้จะไปใช้ตรงไหน ไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับตนเองขึ้นมาเลย ดังนั้นการสร้างหลักสูตรทัศนศิลป์จึงเกิดขึ้น เป้าหมาย คือ ให้ผู้เรียนสามารถออกไปประกอบอาชีพทางศิลปะได้ แต่อาจารย์ทั้งหลายก็ยังสอนเพื่อให้นักศึกษาแสดงงานศิลปะเพื่อไปเป็นศิลปินแบบเดี่ยวกับท่านอาจารย์ทั้งหลาย
ในปี พ.ศ.2552 ในช่วงภาคเรียนที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ให้พัฒนาหลักสูตร จึงคิดว่าจะนำหลักสูตรทัศนศิลป์มาพัฒนาอย่างไรเพื่อให้มีคนสนใจเข้าเรียนมาก ๆ เนื่องจากทุกครั้งที่มีการรับสมัครนักศึกษาเข้าเรียนสาขาวิชาทัศนศิลป์ค่อนข้างน้อย จึงได้เริ่มสร้างหลักสูตรใหม่ เนื่องจากทุกหลักสูตรต้องสร้างใหม่หรือปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ก็มีโรงเรียนต่าง ๆ ติดต่อมาเพื่อต้องการผู้สอนทางศิลปะ ลูกศิษย์ที่เรียนจบ ค.บ. 4 ปี ศิลปศึกษาก็ได้ทำงานกันไปหมดทุกคนแล้ว ถามนักศึกษาสาขาวิชาทัศนศิลป์ทุกคนว่าหลังจากเรียนจบแล้วนักศึกษาจะทำงานอะไร นักศึกษาทุกคนตอบว่าจะไปเรียนเพิ่มวุฒิทางครูเพื่อสามารถสอบบรรจุครูได้ นักศึกษาศิลปกรรม (ออกแบบนิเทศศิลป์) บางคนก็ไปเรียนเพิ่มวุฒิทางครูเพื่อสอบบรรจุครูเช่นเดียวกันและเมื่อมาดูบุคลากรอาจารย์ที่สอนสาขาวิชาทัศนศิลป์แต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญทางศิลปะเฉพาะทาง สามารถสอนให้นักศึกษาไปสอนนักเรียนได้หรือไปประกอบอาชีพทางศิลปะก็ได้ ให้ไปเป็นศิลปินก็ได้ตามที่เขาต้องการ ซึ่งน่าจะสร้างหลักสูตรศิลปศึกษา ค.บ. 5 ปีได้ คณาจารย์ทัศนศิลป์ทั้งหลายว่าท่านจะสร้างหลักสูตรไปในทางใด จึงมีมติตกลงทำหลักสูตรศิลปศึกษา นำหลักสูตรไปให้ผู้เชี่ยวชาญวิพากษ์หลักสูตรให้ที่คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับความกรุณาจากดร.อำไพ ตีรณสาร หัวหน้าภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลปศึกษา และผศ.ดร.สันติ คุณประเสริฐ อาจารย์ประจำวิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลปศึกษา ช่วยวิพากษ์หลักสูตร การไปวิพากษ์หลักสูตรนี้เรานำหลักสูตรไปให้ผู้วิพากษ์ด้วยตนเอง เพื่อนำกลับมาแก้ไขหลักสูตรให้สมบูรณ์โดยเร็ว ในการจัดทำหลักสูตรนี้ ทุกหลักสูตรต้องเข้าระบบการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิ TQF เป็นหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2553
ในปี พ.ศ. 2558 มีการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศึกษา ค.บ. 5 ปี เป็นมาตรฐานคุณวุฒิ TQF
ในปี พ.ศ. 2563 มีการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศึกษา ค.บ. 5 ปี เป็นมาตรฐานคุณวุฒิ TQF
ในปี พ.ศ. 2568 มีการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศึกษา ค.บ. 5 ปี เป็นเป็นแบบ OBE